“โควิด-19” คืออะไร อาการเป็นอย่างไร ? สิ่งที่คุณควรรู้!!
สถานการณ์ของโรคระบาดที่มีชื่ออยู่โลกออนไลน์ตลอดทุกวัน และยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นอย่าง “ไวรัสโคโรนา” หรือ “โควิด-19” ทำให้ใครหลายคนเป็นกังวล และคอยติดตามข่าวสารกันอยู่ตลอดถึงจำนวนผู้ติดเชื้อ อัตราการเสียชีวิต รวมไปถึงการป้องกันตัวเองให้รอดพ้นจากการติดเชื้ออันตรายนี้
ไวรัสโคโรนา หรือไควิด-19 คืออะไร ?
ไวัรสโคโรนา (Coronavirus) เป็นไวรัสที่ถูกพบครั้งแรกในปี 1960 แต่ยังไม่ทราบแหล่งที่มาอย่างชัดเจนว่ามาจากที่ใด แต่เป็นไวรัสที่สามารถติดเชื้อได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ ปัจจุบันมีการค้นพบไวรัสสายพันธุ์นี้แล้วทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดหนักทั่วโลกตอนนี้เป็นสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยพบมาก่อน คือ สายพันธุ์ที่ 7 จึงถูกเรียกว่าเป็น “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” และในภายหลังถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โควิด-19” (COVID-19) นั่นเอง ดังนั้น ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และไวรัสโควิด-19 จึงหมายถึงไวรัสชนิดเดียวกัน
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด-19 มาจากไหน ?
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด-19 แรกเริ่มเดิมทีถูกค้นพบจากสัตว์ก่อน โดยเป็นสัตว์ทะเลที่มีการติดเชื้อไวรัสนี้แล้วคนที่อยู่ใกล้ คลุกคลีกับสัตว์เหล่านี้ก็ติดเชื้อไวรัสมาอีกที โดยเริ่มจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยมีข้อสงสัยว่ามาจากตลาดที่ค้าขายสัตว์ทะเล และสัตว์หายากเหล่านี้
อาการเมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด-19
อาการไวรัสโควิด-19 ที่สังเกตได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเองมี 5 อาการหลัก ๆ ด้วยกัน ดังนี้
- มีไข้
- เจ็บคอ
- ไอแห้ง ๆ
- น้ำมูกไหล
- หายใจเหนื่อยหอบ
ทางด้านแพทย์อาจจะตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยการเอกซ์เรย์ปอด แล้วพบว่าปอดบวมอักเสบร่วมด้วย หากมีอาการหนักมาก ๆ (พบว่าติดเชื้อในระยะหลัง ๆ แล้ว) อาจอันตรายถึงอวัยวะภายในต่าง ๆ ล้มเหลว
อันตรายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด-19
แม้ว่าอาการโดยทั่วไปจะดูเหมือนเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา แต่ที่กลัวกันทั่วโลกเป็นเพราะเชื้อไวรัสนี้เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มียาปฏิชีวนะตัวไหนที่สามารถรักษาให้หายได้โดยตรง การรักษาเป็นไปแบบประคับประคองตามอาการเท่านั้น
นอกจากนี้ อันตรายที่ทำให้เสี่ยงถึงชีวิต จะเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิต้านทานโรคของเราไม่แข็งแรง หรือเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายการทำงานของปอดได้ จนทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายลุกลามมากขึ้น รวดเร็วขึ้น
กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด-19
- เด็กเล็ก
- วัยกลางคนจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ
- คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง
- คนที่กินยากดภูมิต้านทานโรคอยู่
- ผู้ที่เดินทางไปในประเทศเสี่ยงติดเชื้อ เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อิตาลี อิหร่าน ฯลฯ
- ผู้ที่ต้องทำงาน หรือรักษาผู้ป่วย ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด
- ผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องพบปะชาวต่างชาติจำนวนมาก เช่น คนขับแท็กซี่ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ลูกเรือสายการบินต่าง ๆ เป็นต้น
หากมีอาการโควิด 19 ควรทำอย่างไร ?
หากมีอาการของโรคที่เกิดขึ้นตาม 5 ข้อดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด และเมื่อแพทย์ซักถามควรตอบตามความเป็นจริง ไม่ปิดบัง ไม่บิดเบือนข้อมูลใด ๆ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องมากที่สุด
หากเพิ่งเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง ควรกักตัวเองอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปข้างนอกเป็นเวลา 14-27 วัน เพื่อให้ผ่านช่วงเชื้อฟักตัว (ให้แน่ใจจริง ๆ ว่าไม่ติดเชื้อ)
หากสงสัยว่าตัวเองอาจติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด-19 ควรทำอย่างไร ?
หากตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีอาการของโรค หรือเพิ่งกลับจากประเทศที่เสี่ยงติดเชื้อมา สามารถขอตรวจโรคกับทางโรงพยาบาลได้ มีทั้งแบบฟรี และแบบมีค่าใช้จ่าย
**หากไม่มีอาการใด ๆ เลย ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจ
ตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ฟรี หากผู้เข้าตรวจตรงตามเกณฑ์เหล่านี้
- เพิ่งกลับจากการเดินทางไปในประเทศกลุ่มเสี่ยง
– ประเทศไหนคนไทยอย่าไป ในสถานการณ์ไวรัส “COVID-19” - มีอาการผิดปกติที่ระบบทางเดินหายใจ
- มีไข้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
- มีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย ปอดอักเสบอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- มีประวัติใกล้ชิด หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เช่น คนในครอบครัวเพิ่งกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง
- ทำอาชีพที่ต้องพบปะชาวต่างชาติจำนวนมาก เช่น คนขับแท็กซี่ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ลูกเรือสายการบิน เป็นต้น
สามารถเข้ารับการตรวจฟรีได้ที่โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
- โรงพยาบาลรามาธิบดี
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- โรงพยาบาลราชวิถี
- โรงพยาบาลศิริราช
และสามารถเช็กโรงพยาบาลอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ กรมควบคุมโรค โทร 1422
วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด-19
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล เหนื่อยหอบ เจ็บคอ
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ
- ระมัดระวังการสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด และอาจมีเชื้อโรคเกาะอยู่ รวมถึงสิ่งที่มีคนจับบ่อยครั้ง เช่น ที่จับบน BTS, MRT, Airport Link ที่เปิด-ปิดประตูในรถ กลอนประตูต่าง ๆ ก๊อกน้ำ ราวบันได ฯลฯ เมื่อจับแล้วอย่าเอามือสัมผัสหน้า และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ กระเป๋า ฯลฯ
- ล้างมือให้สม่ำเสมอด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลอย่างน้อย 20 วินาที ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70% (ไม่ผสมน้ำ)
- งดจับตา จมูก ปากขณะที่ไม่ได้ล้างมือ
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิด สัมผัสสัตว์ต่าง ๆ โดยที่ไม่มีการป้องกัน
- รับประทานอาหารสุก สะอาด ใช้ช้อนกลาง ไม่ทานอาหารที่ทำจากสัตว์หายาก
- สำหรับบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด-19 โดยตรง ควรใส่หน้ากากอนามัย หรือใส่แว่นตานิรภัย เพื่อป้องกันเชื้อในละอองฝอยจากเสมหะหรือสารคัดหลั่งเข้าตา
ทางกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ การดำรงอยู่ ของ เชื้อไวรัสโควิด 19 ที่มีโอกาสอยู่บนพื้นต่างๆ โดยได้อ้างอิงจาก นพ.พิเชษฐ บัญญติ แพทย์เวชศาสตร์ผ้องกัน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า
- เชื้อไวรัสโควิด 19 ที่อยู่ในละอองฝอยน้ำมูก น้ำเสมหะ น้ำลาย น้ำตา จะอยู่รอดในอากาศได้เพียง 5 นาที
- เชื้อไวรัสโควิด 19 มีชีวิตอยู่ในน้ำได้นาน 4 วัน
- เชื้อไวรัสโควิด 19 มีชีวิตอยู่ บริเวณ พื้น โต๊ะ ลูกบิดประตู ได้นาน 7-8 ชั่วโมง
- เชื้อไวรัสโควิด 19 อยู่ในผ้าหรือกระดาษทิชชู่ได้นาน 8-12 ชั่วโมง
- เชื้อไวรัสโควิด 19 อยู่บนวัสดุพื้นเรียบได้นาน 24-48 ชั่วโมง
- เชื้อไวรัสโควิด 19 อยู่ในอุณภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส ได้นาน 1 เดือน
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโควิด 19 เพิ่มเติม
- โควิด-19: ทำไมต่างประเทศรณรงค์ไม่ให้ใส่ “หน้ากากอนามัย” แล้วคนไทยควรใส่อยู่ไหม?
- 10 ข้อควรทำ เมื่อกลับจากประเทศเสี่ยงไวรัส “โควิด-19”
- ไวรัสโควิด-19 (ไวรัสโคโรนา) vs ไข้หวัดธรรมดา ต่างกันอย่างไร?
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล,theguardian.com,เฟซบุตเพจ Infectious ง่ายนิดเดียว
ภาพ :iStock